English Program : ความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ จริงหรือ

ก่อนที่ท่านผู้ปกครองจะตัดสินใจให้บุตรหลานเข้าเรียนในโครงการ English Program  หรือ ก่อนที่โรงเรียนใด ๆ ของไทยมีนโยบายจะตั้งโครงการนี้ขึ้นนั้น ควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ไม่ควรจะให้ลูกเข้าเรียนตามกระแส เช่นเดียวกัน โรงเรียนก็ไม่ควรจะเปิดโครงการนี้ตามกระแส หรือเพื่อแค่ทำให้ภาพลักษณ์ของโรงเรียนดูดีขึ้นในสายตาของผู้ปกครองในสังคม

 แน่นอนว่า โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษหรือมักได้ยินกันในชื่อ English Program ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการเปิดสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชนจำนวนหลายสิบโรงซึ่งได้รับความนิยมค่อนข้างมาก การดำเนินงานดังกล่าวมีทั้งโปรแกรมการเรียนที่เป็น EP (English Program) และ MEP (Mini English Program) ปัจจุบันอาจเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านภาษาอังกฤษ โดยหลักการแล้วเป็นโปรแกรมการเรียนที่น่าให้การสนับสนุนอย่างยิ่ง เพราะเป็นยุทธศาสตร์หรือทางเลือกอย่างหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพผู้เรียนทางด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนไทยที่จะต้องรับภาระในการพัฒนาประเทศในอนาคตแต่จากการประเมินโครงการ English Program ที่ผ่านมาของนักวิจัยหลาย ๆ ท่าน ยังพบผลการประเมินในบางด้านที่ยังต้องปรับปรุง อาทิ อุทุมพร ชื่นวิญญา (2545 : 184-193)  ได้ประเมินโครงการหลักสูตรภาษาอังกฤษ ระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนโยธินบูรณะ   แม้ผลการประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น อยู่ในระดับดีมาก แต่ยังพบว่า ด้านกระบวนการดำเนินงานในเรื่องการการจัดการเรียนการสอนมีความเหมาะสมกับรายวิชาและสอดคล้องกับหลักสูตรอยู่มีผลการประเมินในระดับปานกลาง  ที่สำคัญด้านผลผลิต กลับพบว่า การสื่อสารให้ถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ของนักเรียน และความเชื่อมั่นในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับปานกลาง เช่นเดียวกับ เพียงแข ภูผายาง (2550: 66-69)  ได้ประเมินการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบเข้มขัน ช่วงชั้นที่ 1 โรงเรียนมหาไถ่ศึกษา ขอนแก่น  ก็พบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเสริมหลักสูตรอยู่มีผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลาง แม้กระทั่งรายงานของคณะกรรมการติดตามประเมินผลคุณภาพการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เกี่ยวกับการติดตามประเมินผลโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตร EP พบว่า แทบทุกโรงเรียนมีปัญหาในการจัดการเรียนการสอนอยู่มากในเรื่องผู้สอนที่มีคุณภาพต่ำ สื่อไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และนักเรียนที่เรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิต ประสบปัญหามากในการเรียนเนื้อหาที่ต้องเรียนทั้งเป็นภาษาอังกฤษและใช้ภาษาไทยทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้ว

ที่กล่าวตัวอย่างมาข้างต้นก็เพื่อให้ท่านผู้ปกครองใคร่ครวญให้ดี ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการเปิดสอนโครงการ English Program หลาย ๆ โรงเรียนไม่ได้ประเมินโครงการนี้อย่างเป็นระบบ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ผู้ปกครองก็ต้องหาข้อมูลด้วยตัวท่านเอง ในเบื้องต้นอาจต้องติดต่อสอบถามข้อมูลจากผู้ปกครองท่านอื่นที่มีลูกเรียนในโครงการนี้อยู่แล้ว หรือนักเรียนที่เรียนอยู่ ว่าเป็นอย่างไร เพราะการจะให้บุตรหลานท่านเข้าเรียนในโครงการ English Program นั้นต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพงเอาการอยู่ จริงไหมคะ